การบริหารความเสี่ยง
โมเดอร์นฟอร์มให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยได้จัดทำนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท และกำหนดแผนงานในการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้ทุกบุคลากรทุกระดับของบริษัท ประกอบด้วย กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท เกิดความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการ ภายใต้กรอบการปฏิบัติงานในกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีตามแนวปฏิบัติสากล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเชื่อมั่นได้ว่าทุกการดำเนินการภายในบริษัทได้บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพียงพอ
การกำกับดูแลความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการบริษัทดูแลงานด้านการบริหารความเสี่ยงในระดับต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทได้นำระบบการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความเสี่ยงประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ บริษัทกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงและความรับผิดชอบในการกำกับดูแลสอดคล้องตาม The Three Lines Model โดยกำหนดบทบาทที่สำคัญ 3 ส่วน ดังนี้
- บทบาทด่านที่ 1 หน่วยงานเจ้าของความเสี่ยง ผู้บริหาร พนักงาน ต้องประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กำหนดมาตรการป้องกันและการควบคุม และบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการรายงานความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
- บทบาทด่านที่ 2 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่กำกับควบคุมดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานอย่างเพียงพอ
- บทบาทด่านที่ 3 หน่วยงานตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมและการกำกับดูแล โดยไม่เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารและเป็นอิสระจากผู้บริหาร เพื่อให้ความเชื่อมั่นและคำแนะนำที่เที่ยงธรรม
กระบวนการบริหารความเสี่ยง
บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมในทุกประเภทความเสี่ยงที่เป็นนัยสำคัญ ทั้งความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) ความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎ (Compliance Risk) และความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเป้าหมายหลักของบริษัท โดยได้กำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ขั้นตอนและวิธีการในการบริหารความเสี่ยงเป็นไปอย่างมีระบบและดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ตามองค์ประกอบ 8 องค์ประกอบ ของ COSO-ERM ดังนี้
- สภาพแวดล้อมภายในองค์กร (Internal Environment)
สภาพแวดล้อมภายในองค์กร ถูกกำหนดร่วมกันระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ผ่านกิจกรรม และวิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมร่วม รวมถึงจริยธรรมการทำงานของทั้งองค์กรตาม Core Values ของบริษัท และผลักดันให้มีการสร้างจิตสำนึกและตระหนักรับรู้ในเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายหลัก รวมถึงความเสี่ยงขององค์กร
- การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Setting)
บริษัทกำหนดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่ชัดเจน มีความสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบของความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Appetite) และระดับความเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ที่ทำให้องค์กรมั่นใจว่าบริษัทได้ดำเนินการบริหารความเสี่ยงอยู่ภายในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance)
- การบ่งชี้เหตุการณ์ (Event Identification)
พิจารณาปัจจัยความเสี่ยงทุกด้านที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบริษัท ในกระบวนการบ่งชี้เหตุการณ์ความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท
- การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
พิจารณาสาเหตุและแหล่งที่มาของความเสี่ยง โอกาสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านบวกและลบเพื่อประเมินระดับความเสี่ยง โดยบริษัทกำหนดเกณฑ์การประเมินของผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง (Impact and Likelihood Assessment) เป็นมาตรฐาน 5 ระดับ โดยกำหนดนิยามให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ของบริษัทเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม
- การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response)
การกำหนดแผนจัดการความเสี่ยงต้องนำเสนอแผนการดำเนินการต่อที่ประชุมผู้บริหาร และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาและคัดเลือกแนวทางในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยพิจารณาดำเนินการเพื่อตอบสนองความเสี่ยงตามวิธีการจัดการ เช่น การหลีกเลี่ยง (Avoid), การร่วมจัดการ (Share), การลด (Reduce), การยอมรับ (Accept) เพื่อบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือไม่เกิดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเป้าหมายขององค์กรอย่างเป็นนัยสำคัญ
- กิจกรรมการควบคุม (Control Activities)
บริษัทจัดให้มีกิจกรรมการควบคุมทั่วทั้งบริษัท ในกระบวนการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเหมาะสม เพียงพอ และเป็นระบบ
- ข้อมูลและการติดต่อสื่อสาร (Information and Communication)
บริษัทให้ความสำคัญต่อการบริหารข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยมีการสื่อสารภายในองค์กรกับผู้บริหารและพนักงานทุกคน ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญที่จะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงประเด็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ
- การติดตาม (Monitoring)
บริษัทจัดให้มีการประสานงาน การประชุมและการรายงานระหว่างผู้บริหารและผู้รับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการตรวจสอบ และให้มีการติดตามงาน การประเมินสอบทาน ผ่านการตรวจสอบภายใน เพื่อวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงในความเสี่ยงสำคัญที่มีอยู่และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการทบทวนติดตามความคืบหน้า การจัดลำดับความสำคัญและการประเมินความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
วัฒนธรรมที่คำนึงถึงความเสี่ยง
- ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้แก่บุคลากรในบริษัท
- สายงานตรวจสอบภายในจัดทำแผนงานตรวจสอบโดยกำหนดลำดับและแผนการตรวจสอบความเสี่ยง (Risk Based Audit Plan) เพื่อสอบทานและลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน โดยนำเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขให้กับหน่วยงานผู้รับการตรวจ (Risk Owner) ในประเด็นของความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการอย่างสม่ำเสมอ